การวางแผนการเพาะปลูกพืชโดยใช้ระบบ SSMAP (ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร) https://ssmap.doae.go.th/ssmap

การวางแผนการเพาะปลูกพืชโดยใช้ระบบ SSMAP
(ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร)
https://ssmap.doae.go.th/ssmap


        ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร (SSMAP) ได้จัดทำชั้นข้อมูลแผนที่บริการสำหรับใช้ในการวางแผนงานโครงการตามระบบส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเอกสารฉบับนี้จะเป็นการยกตัวอย่าง การใช้งานระบบ SSMAP เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนเพาะปลูกพืชในพื้นที่

        ชั้นข้อมูลที่ใช้
        1.ชั้นข้อมูลขอบเขตการปกครอง
        2.ชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจ (Zoning) จากกรมพัฒนาที่ดิน
        3.ชั้นข้อมูลชุดดิน
        4.ชั้นข้อมูลทางน้ำ (เฉพาะทางสายหลัก)
        5.ชั้นข้อมูลแหล่งรับซื้อผลผลิต/ตลาด
        6.ชั้นข้อมูลเส้นทางคมนาคม
        7.ชั้นข้อมูลแผนที่กลุ่มเมฆ จาก NOAA (Real time)

        วิธีการใช้งาน ตัวอย่างเช่น เกษตรกรต้องการปลูกมันสำปะหลัง ในตำบลหินดาด อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ช่วยเกษตรกรวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปลูก ดังนี้

        1.เลือกชั้นข้อมูลขอบเขตการปกครอง โดยเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล แล้ว zoom in ไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

        2.ตรวจดูความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจ (Zoning) ตาม Agri Map เพื่อดูว่าพื้นที่ที่ต้องการมีความเหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังระดับไหน พบว่า พื้นที่ที่ต้องการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับ S2 คือ เหมาะสมปานกลาง

        3.ตรวจสอบสภาพดินในพื้นที่ที่ต้องการปลูกจาก การเลือกข้อมูลชุดดิน ที่อยู่ในชั้นข้อมูลภูมิประเทศ จากนั้นคลิกขวาในหน้าแผนที่เพื่อดูรายละเอียดข้อมูล พบว่า พื้นที่อยู่ในชุดดินสตึก

หากต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลชุดดิน เพิ่มเติม ไปที่ link website เลือกคำอธิบายลักษณะและคุณสมบัติชุดดินจัดตั้งในประเทศไทย ซึ่งได้อธิบายว่าพื้นที่ที่เลือกเป็นชุดดินที่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้

        4.ตรวจสอบแหล่งน้ำในพื้นที่ โดยเลือกจากชั้นข้อมูลภูมิประเทศ กดเลือกทางน้ำ (เฉพาะสายหลัก) หน้าแผนที่จะแสดงเส้นทางน้ำ

        5.ค้นหาแหล่งรับซื้อใกล้พื้นที่ปลูกของเกษตรกร เพื่อดูเรื่องการตลาด จากการเลือกชั้นข้อมูลแหล่งรับซื้อผลผลิต/ตลาด เลือก ลานมัน และเลือก โรงงานมันเส้น ทำให้ทราบว่าพื้นที่ที่ต้องการอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อจุดใดบ้าง ทั้งนี้ควรตรวจสอบในพื้นที่เพิ่มเติม เนื่องจากอาจมีข้อมูลแหล่งรับซื้อและโรงงานมากกว่าในระบบฯ และทราบราคารับซื้อหน้าโรงงานด้วย

        6.ดูเส้นทางไปสู่แหล่งรับซื้อจากชั้นขอบเขตการปกครอง กดเลือกเส้นทางคมนาคม หน้าแผนที่จะแสดงเส้นทางถนน

        7.สามารถดูข้อมูลติดตามกลุ่มเมฆฝนในพื้นที่ได้ เลือกแผนที่กลุ่มเมฆ จาก NOAA (Real time)

หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้า link website กรมอุตุนิยมวิทยาได้ เลือกเรดาห์ฝน จากกรมอุตุนิยมวิทยา

        สรุป จากกรณีตัวอย่าง ความต้องการปลูกมันสำปะหลังในตำบลหินดาด อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชรเจ้าหน้าที่สามารถแนะนำเกษตรกรได้ว่า สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม S2 มีสภาพดินที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง ใกล้แหล่งน้ำ มีเส้นทางการคมนาคมขนส่ง ไปสู่โรงงานมันเส้น และลานมันได้ ทำให้เมื่อผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วสามารถส่งขายได้ นอกจากนี้สามารถดูกลุ่มเมฆฝน เพื่อติดตามและคาดการณ์วันที่ควรเตรียมไถพรวนดิน ยกร่อง วันปลูกได้

ทีมแผนที่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 18 พฤษภาคม 2561